"จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเกิดคุณกินอะไรเข้าไป"
นี่คือคำถามที่ เฟอร์นันดา มาร์ติเนซ ต้องเจอทุกครั้งที่เธอล็อกอินเข้าใช้บัญชีโซเชียลมีเดียของตนเอง
แต่เฟอร์นันดามักตอบคำถามเหล่านี้โดยไม่รู้สึกรำคาญใจ เพื่ออธิบายให้ผู้คนได้เข้าใจถึงโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ยากที่เธอเป็นอยู่ และทำให้เธอไม่สามารถ "รับประทานอาหาร" ได้เหมือนคนทั่วไปมานานกว่า 2 ปีแล้ว
หญิงสาวชาวบราซิลวัย 22 ปีผู้นี้ป่วยเป็น "โรคหนังยืดผิดปกติ" (Ehlers-Danlos syndrome หรือ EDS) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคทางพันธุกรรม ที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ ความผิดปกติในการผลิตคอลลาเจนในร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารได้
โรค EDS แบ่งออกเป็น 13 ชนิด และสมาคม Ehlers-Danlos Society ประเมินว่าคนอย่างน้อย 1 ใน 5,000 คนโลกทั่วป่วยเป็นโรคนี้
ผลของโรคนี้ ทำให้เฟอร์นันดา ต้องใส่สายให้สารอาหารมาตั้งแต่ปี 2018 เพราะร่างกายของเธอไม่สามารถย่อยอาหารได้ตามปกติอีกต่อไป
นอกจากโรคดังกล่าวแล้ว เฟอร์นันดายังป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดกันในครอบครัวของเธอ แต่ถึงอย่างนั้น เฟอร์นันดา ก็ตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวความเจ็บป่วยของเธอให้โลกได้รับรู้ผ่านทางโซเชียลมีเดียเพื่อช่วยเหลือผู้ที่อาจป่วยแบบเดียวกับเธอ
ปัญหาใหญ่ที่สุดของเฟอร์นันดา คือการกินและการดื่ม เพราะเธอไม่สามารถทำสองสิ่งนี้ได้นั่นเอง
วิธีเดียวที่จะช่วยให้ร่างกายของเธอได้รับสารอาหารที่จำเป็นคือการให้สารอาหารทางเส้นเลือด (parenteral nutrition) ซึ่งเธอจะได้รับสารอาหารหรือวิตามินผ่านสายน้ำเกลือ
พาเมลา ริคา นักโภชนาการที่ดูแลเฟอร์นันดา อธิบายว่า "มันเหมือนกับเราย่อยอาหารด้านนอกร่างกายแล้วสกัดเอาสารอาหาร เช่น กรดอะมิโน โปรตีน ลิพิด ไขมัน และน้ำตาลกลูโคส จากนั้นก็ฉีดมันเข้าสู่ร่างกายของเธอโดยตรง
เฟอร์นันดา ยินดีที่จะอธิบายเรื่องนี้ให้ผู้ติดตามเธอทางโซเชียลมีเดียจำนวนหลายแสนคนได้เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นทางบัญชีใช้งานส่วนตัวของเธอ หรือบัญชีใช้งานของโครงการที่เธอทำอยู่ที่มีชื่อว่า Living with Rare Diseases หรือการใช้ชีวิตร่วมกับโรคที่พบได้ยาก
คำอธิบายของเธอได้รับความสนใจอย่างมาก โดยคลิปวิดีโอ และตัวอักษรที่เธอใช้ให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยเป็นโรคที่พบได้ยากเช่นเธอมียอดชมกว่า 1 ล้านครั้งทางแอปพลิเคชันติ๊กต่อก (TikTok)
"ความสงสัยไม่ได้ทำให้ฉันรู้สึกรำคาญ และฉันได้รับข้อความให้กำลังใจมากมายจากผู้คนที่เปลี่ยนแปลงมุมมองต่อชีวิตของตัวเองหลังจากได้เห็นฉันรับมือกับสิ่งต่าง ๆ" เฟอร์นันดา เล่าให้บีบีซีฟัง
โรคภัยที่รุมเร้า
เฟอร์นันดา เล่าว่า เธอเป็นคนขี้โรคมาตั้งแต่ยังเล็ก "ตอนเป็นทารก ฉันเริ่มแสดงสัญญาณความผิดปกติ"
"ฉันเป็นเด็กที่มีอาการเจ็บปวดรุนแรงตามแขนขา ฉันเกิดมาพร้อมกับอาการกรดไหลย้อนรุนแรง และหูหนวกข้างหนึ่ง"
นอกจากนี้เธอยังมีอาการข้อหลวม (hypermobile joints) ที่ทำให้สามารถขยับข้อต่อได้มากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการเคล็ดขัดยอก และข้อหลุดเคลื่อนออกจากตำแหน่งปกติได้ง่าย
"อาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นเมื่อฉันอายุมากขึ้น...ทุกคนรู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับฉัน แต่พวกเขาไม่รู้แน่ชัดว่ามันคืออะไร"
แต่โซเชียลมีเดียก็ทำให้เฟอร์นันดาไขปริศนาอาการเจ็บป่วยของตัวเองได้ หลังจากได้ค้นพบกลุ่มผู้ป่วยโรค EDS ทางเฟซบุ๊ก
"ฉันไปพบนักพันธุศาสตร์ ซึ่งทำการตรวจทุกอย่างให้ และยืนยันว่าฉันเป็นโรค EDS"
เฟอร์นันดา มีอายุ 17 ปี ตอนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ แต่ตอนนั้นโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ของเธอก็มีความรุนแรงแล้ว
เธอมีอาการบาดเจ็บตามข้อต่อ และมีอาการระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง (dysautonomia) ซึ่งหมายความว่า ระบบประสาทบางส่วนของเธอที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของหัวใจและลำไส้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
"ฉันมีอาการท้องร่วง อาเจียน และปวดท้อง" เฟอร์นันดา เล่า
"แต่อย่างน้อยก็มีชื่อสำหรับอาการเจ็บป่วยทุกอย่างที่เกิดขึ้น ตอนนี้ฉันได้คำอธิบาย และสามารถบอกหมอและคนอื่น ๆ ได้ว่าฉันเป็นอะไร"
โรค EDS ส่งผลอย่างมากต่อการผลิตคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการก่อกำเนิดโครงสร้างร่างกายคนเรา เช่น กระดูก ผิวหนัง และเส้นเอ็นต่าง ๆ
เฟอร์นันดา บอกว่า โรคนี้ทำให้ "ข้อต่อและอวัยวะเปราะบางขึ้น รวมทั้งเส้นเลือดฉีกขาดได้ง่าย"
ความหิว
"ฉันไม่สามารถกินหรือดื่มอะไรได้" เฟอร์นันดา กล่าว
"อวัยวะและกล้ามเนื้อภายในของฉันเริ่มอ่อนแอ เพราะโรค EDS ระบบประสาทซึ่งทำงานสอดประสานกับระบบย่อยอาหารก็ได้รับผลกระทบไปด้วย"
"แต่ฉันไม่รู้สึกหิวมานานแล้ว เพราะความรู้สึกหิวขึ้นอยู่กับการทำงานของระบบย่อยอาหารซึ่งของฉันไม่ทำงานอีกต่อไปแล้ว"
เฟอร์นันดา บอกว่าบางครั้งเธอยังมีความรู้สึกอยากทางใจที่จะกินอาหาร ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น เธอจะใช้วิธีเคี้ยวอาหารแล้วคายออกโดยที่ไม่กลืนมันเข้าไป
"แต่ทุกวันนี้ ฉันยังคงเคี้ยวอาหารเพื่อรักษากิจวัตรนี้ไว้ อย่างเวลาที่ต้องนั่งเป็นเพื่อนแม่ทานอาหารเที่ยง เพื่อที่ท่านจะไม่ต้องทานอาหารตามลำพัง" เธอกล่าว
เฟอร์นันดา เริ่มมีปัญหาการกินช่วงปลายปี 2016 และหลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรง
"ฉ้นเริ่มกินได้น้อยลงทุกที และพยายามเปลี่ยนอาหารที่กิน"
ในเดือน พ.ค.2018 เฟอร์นันดา เริ่มรับอาหารทางสายยางที่สอดเข้าในร่างกาย ซึ่งมันดูเหมือนจะช่วยแก้ปัญหาได้
"แต่หลังจากผ่านไปหนึ่งปีครึ่ง ร่างกายของฉันก็เริ่มปฏิเสธทุกอย่างที่ให้ผ่านสายยาง ลำไส้ของฉันไม่ดูดซึมสารอาหารอีกต่อไป" เธอเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น
ช่วงปลายปี 2019 เฟอร์นันดาถูกส่งเข้าโรงพยาบาลด้วยภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรงอีกครั้ง และแพทย์เริ่มใช้วิธีให้สารอาหารทางเส้นเลือด
เธอเล่าว่า "ฉันเริ่มมีน้ำหนักตัวขึ้นมาอยู่ในระดับเดิม แต่ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ตับ ซึ่งมีหน้าที่แปรรูปสารอาหารต่าง ๆ"
ปัจจุบัน เฟอร์นันดา รักษาตัวอยู่ที่บ้านทางภาคใต้ของบราซิลซึ่งเธออาศัยอยู่กับแม่และยาย และมีพยาบาล 2 คนคอยดูแลทุกวัน
การอาบน้ำ
นอกจากความเจ็บป่วยที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เฟอร์นันดา ยังมีอาการ "ภูมิแพ้น้ำ" (aquagenic urticarial) ที่เมื่อผิวหนังสัมผัสกับน้ำจะเกิดอาการลมพิษที่คันและเจ็บปวด ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อเธอในหลายด้าน
"ฉันพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำให้ได้มากที่สุด ฉันพยามไม่ปล่อยให้เหงื่อออกจนโชกชุ่ม ฉันไม่สามารถลงสระว่ายน้ำหรือทะเลได้ ฉันยังพยายามหลีกเลี่ยงน้ำฝนด้วย"
อย่างไรก็ตาม เฟอร์นันดา ก็อาบน้ำสัปดาห์ละสองครั้ง โดยที่ต้องใช้ยาแก้แพ้เสียก่อน แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังมีอาการอยู่บ้าง
"มันจะคันไปหมด ผิวหนังของฉันเต็มไปด้วยจุดสีแดง"
"เวลาที่อาการรุนแรงก็จะเจ็บปวดมาก ราวกับถูกเข็มนับพันเล่มทิ่มแทงไปทั้งตัว"
แต่ถึงเธอจะไม่มีอาการภูมิแพ้ดังกล่าว เธอก็ไม่สามารถอาบน้ำได้ตามปกติอยู่ดี เพราะสายให้สารอาหารทางเส้นเลือดไม่สามารถเปียกน้ำได้
โรค EDS รักษาให้หายขาดได้หรือไม่
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรค EDS ให้หายขาดได้
"ปัญหาที่ข้อต่อสามารถควบคุมได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด เพี่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น" เฟอร์นันดา อธิบาย
แต่หมอบอกเธอว่าปัญหาเรื่องกระเพาะอาหารและลำไส้ไม่น่าจะแก้ได้ และเป็นไปได้ว่าเธอจะต้องรับสารอาหารทางเส้นเลือดไปตลอดชีวิต
แต่ถึงอย่างนั้น เฟอร์นันดา ก็มุ่งมั่นที่จะใช้ชีวิตเป็นปกติให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
"สิ่งที่ฉันสามารถทำเพื่อตัวเองได้คือการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำในสิ่งที่ฉันชอบ เช่น การเล่นเกมออนไลน์"
"ฉันไม่ได้รู้สึกต่อต้านอาการป่วยที่เป็นอยู่ แต่พยายามเรียนรู้จากมัน"
เฟอร์นันดา บอกว่า การต้องพบแพทย์นับครั้งไม่ถ้วนทำให้เธอ "หลงรัก" เรื่องการแพทย์ และวางแผนจะศึกษาทางด้านนี้
"ก่อนจะถึงตอนนั้น ฉันอยากทำบัญชีรวบรวมโรคที่พบได้ยากให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคเหล่านี้ และไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอย่างไร"
"นี่ไม่ใช่การทำหน้าที่แทนหมอ แต่เพื่อช่วยให้คนเข้าใจเกี่ยวกับโรคและอธิบายเกี่ยวกับมันด้วยวิธีการที่เข้าใจได้ง่าย"
"ถ้าฉันช่วยเหลือคนได้แค่หนึ่งคน มันก็คุ้มค่าแล้ว"
แต่เฟอร์นันดาบอกว่าการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียของเธอก็เป็นหนทางที่แสดงให้ผู้คนได้เห็นว่าไม่ควรจะปล่อยให้โรคภัยไข้เจ็บเอาเวลาทั้งหมดของคุณไป
"โรคที่พบได้ยากมักเอาเวลา 99% ของผู้ป่วยไป แต่ส่วนที่เหลืออีก 1% คือความสุข และความปรารถนา ซึ่งช่วยสร้างสมดุลให้ชีวิตของเรา"
"เป้าหมายของฉันคือการแสดงให้เห็นว่าเวลา 1% นี้มีความสำคัญเช่นกัน" เฟอร์นันดา กล่าวทิ้งท้าย
"อาหาร" - Google News
August 20, 2020 at 03:37PM
https://ift.tt/2YgVrGH
“ฉันไม่ได้กินอาหารมานานกว่า 2 ปี” สาวบราซิลเล่าเรื่องการต่อสู้กับโรคทางพันธุกรรมที่รักษาไม่หาย - บีบีซีไทย
"อาหาร" - Google News
https://ift.tt/3bODzqM
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/35PjoHG
Bagikan Berita Ini
0 Response to "“ฉันไม่ได้กินอาหารมานานกว่า 2 ปี” สาวบราซิลเล่าเรื่องการต่อสู้กับโรคทางพันธุกรรมที่รักษาไม่หาย - บีบีซีไทย"
Post a Comment