มนุษย์ใช้พลังงานในการขับเคลื่อนการทำงานของร่างกายซึ่งได้พลังงานจากอาหาร (คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน) เมื่อเรากินอาหารทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น มีการนำน้ำตาลไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน เกิดการกระตุ้นให้ฮอร์โมนที่ชื่ออินสุลิน ทำให้เก็บน้ำตาลเข้าเซลล์ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ซึ่งน้ำตาลส่วนเกินจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสะสมเป็นไขมันได้ ยับยั้งการสลายไขมัน ในทางตรงข้ามเมื่อเราอดอาหารระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง ร่างกายจะหยุดการกระตุ้นอินสุลิน หันมากระตุ้นกลูคากอนแทน ทำให้มีการสลายไขมันเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน ในการสลายไขมันทำให้เกิดสารที่ชื่อ คีโตน อธิบายง่ายๆ ร่างกายใช้พลังงานซึ่งจะมาจากอะไรก็ได้ โดยปกติจะเลือกน้ำตาลก่อน แต่ถ้าไม่มีน้ำตาลก็จะเลือกเอาพลังงานสำรองซึ่งมาจากไขมันมาใช้ มีการสลายไขมันทำให้มีคีโตนเกิดขึ้น ดังนั้นการที่มีคีโตนเกิดขึ้นแสดงถึงการที่ร่างกายได้รับอาหารไม่เพียงพอ หรืออดอาหาร
อาหารคีโตซึ่งมีการจำกัดอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตอย่างเข้มงวดร่วมกับการกินไขมันในปริมาณมาก เป็นการหลอกร่างกายให้เหมือนกับการอดอาหาร ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงหลังกินอาหาร ร่างกายจะไม่มีการกระตุ้นอินสุลินและยังคงมีการสลายไขมันทำให้มีคีโตนเกิดขึ้น ดังที่จะมีคนพูดว่าเป็นการกินไขมันเพื่อสลายไขมัน และมีคนนำมากล่าวอ้างในการลดน้ำหนัก ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ของการใช้อาหารคีโต คือการใช้เป็นการรักษาที่เสริมจากการรักษาหลักในการผู้ป่วยลมชักที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาโดยเฉพาะในเด็ก
หลักการกินคีโต เป็นอย่างไร
1.ลดการกินแป้งและน้ำตาล หรืออาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (คาร์บ)
ในช่วงแรกของการกินคีโต จะเริ่มให้ลดคาร์โบไฮเดรตก่อน คือ ให้กินคาร์บไม่เกิน 20-50 กรัมต่อวัน (ข้าวสวย 1 ช้อนโต๊ะ จะมีคาร์บ 3 กรัม ขนมปังขาว 1 แผ่น มีคาร์บ 15 กรัม ผลไม้ขนาด 1 กำปั้น หรือ 6-8 ชิ้นพอดีคำ จะมีคาร์บ 15 กรัม) คิดเป็นปริมาณข้าว 7 ช้อนต่อวัน จะเป็นข้าวสวยธรรมดา ข้าวกล้อง หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ก็ได้
2. โปรตีน เนื้อสัตว์ ไข่ สามารถกินได้ทุกชนิด ในกรณีของผลิตภัณฑ์นม สามารถกินชีส ครีมได้ แต่ไม่แนะนำให้กินนม เพราะในนมมีน้ำตาลนมที่ชื่อแลคโตส (นม 1 แก้ว มีน้ำตาลประมาณ 10 กรัม) ถ้าจะกินนมต้องลดจากโควตาของคาร์บทั้งวัน โยเกิร์ตก็ยังมีน้ำตาลแต่น้อยกว่าในนม ถ้าอยากกินโยเกิร์ตแนะนำ กรีกโยเกิร์ตรสธรรมชาติ ในส่วนของถั่วสามารถกินได้ แต่ไม่แนะนำถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ปริมาณมากเพราะมีแป้งสูง สามารถกินถั่วลิสง อัลมอนด์ แมคคาเดเมีย ได้
อย่างไรก็ตามการกินโปรตีนในปริมาณมากอาจจะทำให้ร่างกายไม่สร้างคีโตน เพราะโปรตีนย่อยสลายจนกลายเป็นกรดอะมิโน แล้วดูดซึมเข้าไป กรดอะมิโนสามารถใช้ไปสร้างน้ำตาลได้ และเมื่อน้ำตาลในร่างกายสูงขึ้นจะกระตุ้นอินสุลินยับยั้งการสลายไขมัน ทำให้จะไม่เกิดคีโตน
3. ไขมัน กินได้ไม่จำกัด
4. ผัก กินได้เฉพาะผักที่เป็นผักใบเท่านั้น ผักหัวต่างๆ เช่น ฟักทอง มัน เผือก มีแป้งสูงไม่อนุญาตให้กิน และหลีกเลี่ยงผักสดที่มีรสชาติหวานในปริมาณมาก เช่น ข้าวโพดอ่อน มะเขือเทศ แครอท
6. ผลไม้ สามารถกินได้เฉพาะผลไม้ตระกูลเบอร์รีในปริมาณจำกัด เพราะมีน้ำตาลต่ำ เช่น ราสเบอร์รี บลูเบอร์รี และแครนเบอร์รี
7. น้ำเปล่า เนื่องจากขบวนการเกิดคีโต จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำไปค่อนข้างมาก จึงแนะนำให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อชดเชยการขาดน้ำของร่างกาย
8. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลไม้อบแห้ง ขนมหวาน ผลิตภัณฑ์เบเกอรี และน้ำอัดลม เนื่องจากเต็มไปด้วยสารให้ความหวาน
9. การดื่มชา กาแฟ สามารถดื่มได้เฉพาะกาแฟดำ หรือถ้าจะใช้ครีมหรือกะทิผสมลงไปได้
10. สารให้ความหวานแทนน้ำตาล แนะนำให้ใช้หญ้าหวาน ซูคาโลส อิริธริทอล ไม่แนะนำกลุ่ม sugar alcohol เช่น xylitol
11. ควรได้รับวิตามินและเกลือแร่เสริมอย่างเหมาะสม เพราะอาหารคีโตมีการจำกัดอาหารอย่างเข้มงวดทำให้มีโอกาสขาดวิตามินและเกลือแร่
ประโยชน์ของการกินคีโต
- สามารถลดน้ำหนักได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากเมื่อลดแป้ง ลดน้ำตาล น้ำหนักก็จะลดลง
- ไม่หิวบ่อย การเน้นกินอาหารประเภทโปรตีน ทำให้ไม่กินจุบจิบ และอิ่มนานขึ้น
- ความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติ เนื่องจากร่างกายเผาผลาญน้ำตาลน้อยลง
ข้อควรระวังในการกินคีโต
- การกินคีโตในระยะยาว จะทำให้ร่างกายขาดแร่ธาตุ เกลือแร่ และวิตามินจากผลไม้ ข้าว ธัญพืชต่างๆ จึงจำเป็นต้องเสริมแร่ธาตุ เกลือแร่ และวิตามินต่างๆ ให้ร่างกายด้วย
- คนที่มีปัญหาเรื่องตับอ่อน เพราะตับอ่อนทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน หากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ ร่างกายก็จะไม่เกิดการสลายไขมันจากการกินไขมัน
- คนไข้ที่มีปัญหาโรคตับเพราะร่างกายสร้างคีโตนที่ตับ ถ้ามีโรคตับหรือการทำงานของตับบกพร่องรุนแรงจะทำให้ไม่สามารถสร้างคีโตนได้
- คนที่เป็นโรคเกี่ยวกับไต ก็ไม่ควรกินคีโต เพราะการกินคีโต สามารถกินโปรตีนมาก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อไต
- คนที่มีระบบเผาผลาญไขมันในร่างกายผิดปกติ ก็ไม่ควรกินคีโต เพราะจะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก เพราะเมื่อร่างกายไม่ได้ใช้พลังงานจากน้ำตาล ก็จะเผาผลาญโดยใช้ไขมัน แต่ถ้าระบบเผาผลาญไขมันไม่ดีตั้งแต่แรก ก็จะเกิดผลเสียอื่นๆ ต่อร่างกายตามมา
- คนไข้โรคเบาหวาน ที่มีการใช้ยาบางชนิดหรือฉีดอินสุลิน หากจะกินอาหารคีโตต้องปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลและมีการปรับลดยาที่เหมาะสม ก่อนที่จะเริ่มกินคีโต
ไม่ว่าจะเลือกลดน้ำหนักด้วยวิธีการใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ต้องดูด้วยว่าร่างกายและวิถีชีวิตของเราเหมาะกับวิธีนั้นๆ หรือไม่ การกินคีโตก็เช่นเดียวกัน หากลองทำดูแล้ว พบว่าระดับไขมันในเลือดขึ้นสูงกว่าปกติ นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า คุณไม่เหมาะกับการกินคีโต ซึ่งปัจจุบันก็มีวิธีและแนวทางปฏิบัติของการลดน้ำหนักอีกมากมาย จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง คุณก็จะมีความสุขในการกิน การใช้ชีวิต และมีสุขภาพที่ดี
# # # # # #
แหล่งข้อมูล
ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร หัวหน้าสาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
"กิน" - Google News
May 22, 2020 at 05:02AM
https://ift.tt/2LMp7EH
ศุกร์สุขภาพ : รู้จักการกินแบบ “Ketogenic Diet” - ไทยรัฐ
"กิน" - Google News
https://ift.tt/2YKxNmY
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/35PjoHG
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ศุกร์สุขภาพ : รู้จักการกินแบบ “Ketogenic Diet” - ไทยรัฐ"
Post a Comment