มี 9 เซลส์เป็นตัวประสาน ลดเคอร์ฟิวเปิดฉายหนัง กินอาหารร่วมโต๊ะได้ 6 คน
หลังการประชุม ศบค.วงเล็กเสร็จสิ้น พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช.ลงจากตึกไทยคู่ฟ้าเดินทางเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ตึกบัญชาการ 1 ทันที เปิดเผยเพียงสั้นๆว่า ตนนำข้อสรุปที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 เข้าหารือนายกฯ เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 29 พ.ค. ที่มีทั้งเรื่องผ่อนคลายมาตรการต่างๆในระยะต่อไป รวมทั้งพิจารณาปรับลดเวลาเคอร์ฟิวด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อถามถึงรายละเอียดทั้งการผ่อนคลายมาตรการและการปรับลดเวลาเคอร์ฟิว พล.อ.สมศักดิ์ ไม่ตอบคำถาม บอกขอไปพบรองนายกฯก่อน จากนั้นเดินขึ้นห้องทำงานนายวิษณุ
“เทวัญ” แย้มไม่มีโรงหนัง–นวดมีลุ้น
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการคลายล็อกระยะ 3 ว่า สำหรับมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 จะมีกิจการและกิจกรรมใดบ้างที่จะได้รับการผ่อนคลายเพิ่มเติม ต้องรอการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 29 พ.ค. แต่ เชื่อว่าไม่มีการคลายล็อกในส่วนของโรงภาพยนตร์ ไม่ใช่เพราะเราไม่ให้หรือปิด แต่ที่ฟังจากผู้ประกอบการทราบว่า ยังไม่มีหนังใหม่เข้าฉาย ส่วนร้านนวดแผนโบราณเข้าใจความเดือดร้อนของผู้ประกอบกิจการนวด ขณะเดียวกันคนที่ชอบนวดอยากให้เปิด ดังนั้นต้องพิจารณาหลายๆอย่าง
เล็งเยียวยาพระ 3 แสนรูปด้วย
เมื่อถามถึงวัดจะพิจารณาผ่อนปรนให้เปิดก่อนหรือไม่ เนื่องจากใกล้วันเข้าพรรษา นายเทวัญกล่าวว่า ต้องรอดูใกล้ๆอีกนิด หากสามารถจัดการบริเวณวัดให้นั่งห่างกันจะลองปรึกษาในที่ประชุม ศบค. ตอนนี้ทุกวัดไม่มีคนเข้าไปทำบุญ บางวัดเริ่มไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ส่วนการพิจารณาเยียวยาวัดที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ ตัวอย่างปี 2552ตอนนั้นพระใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บิณฑบาตไม่ได้ เพราะมีเหตุการณ์ยิงพระ ครม.ให้ค่าบิณฑบาตและค่าอาหารพระวันละ 100 บาทต่อ 1 รูป จะใช้โมเดลนี้คิดเรื่องเยียวยา นายกฯมอบหมายให้ตนพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไร ทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงการคลังแล้ว ทั้งนี้ มีวัดทั้งหมดกว่า 4 หมื่นวัดและพระเกือบ 3 แสนรูปที่ได้รับความเดือดร้อน คาดว่าใช้งบประมาณเดือนละ 400-500 ล้าน จะให้เงินแต่ละวัดไปบริหารจัดการเองตามจำนวนพระ การเยียวยาต้องหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฐานะผู้กำกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หากใช้โมเดลเหมือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
ให้กิจการเสี่ยงสูงเสนอวิธีป้องกัน
ต่อมาเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงกรณีมีข่าวว่าจะมีกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง และถูกจัดให้อยู่ระยะ 4 ได้รับการผ่อนปรนระยะ 3 มีกรอบการพิจารณาอย่างไรสนามมวย ร้านนวดจะเปิดได้หรือไม่ว่า ถึงนาทีนี้ยังไม่มีข้อสรุปจนกว่าจะประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน วันที่ 29 พ.ค. ตอนนี้คิดกันอยู่ แต่ถือว่าเจ้าของกิจการที่มีความเสี่ยงสูงตื่นตัวกันดี เจ้าของกิจการที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องเสนอตัวเองขึ้นมาเพื่อให้สังคมรับฟังว่า ผู้ให้บริการจะมีวิธีการ แนวทาง และมาตรการอย่างไร ให้ผู้ใช้บริการมั่นใจว่าเมื่อเปิดกิจการที่มีความเสี่ยงแล้วจะไม่เกิดการระบาดอีกรอบ
“ทวีศิลป์” ยันเคอร์ฟิวลดเวลาแน่
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ส่วนสนามมวย ร้านนวดยังไม่มีข้อสรุป อาจเป็นเพียงข่าว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันที่พอจะบอกได้คือ กลุ่มก้อนกว้างๆคือ1.ร้านรวงต่างๆในห้างสรรพสินค้าที่มีระบบดูแลที่ดี 2.กีฬา พยายามจะเปิดให้มากขึ้น โดยเฉพาะการซ้อมของนักกีฬา 3.เคอร์ฟิว มีแนวโน้มจะลดเวลาลงแน่ๆ แต่เวลาเท่าไรให้รอที่ประชุม ศบค.วันที่ 29 พ.ค.และ 4.กิจการใดที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 จะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะทั้งหมด รวมถึงผู้ใช้บริการต้องเช็กอินและเช็กเอาต์ผ่านแอปฯดังกล่าว เพราะกิจการระยะที่ 3 มีความเสี่ยงในเกณฑ์ปานกลางถึงสูงทั้งสิ้น ส่วนกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ ขึ้นอยู่ที่ประชุม ศบค. วันที่ 29พ.ค.พิจารณา ผอ.ศบค.บอกว่าจะพยายามเปิดให้มากที่สุด แต่ต้องยอมรับการติดตามแบบนี้
ลุยตรวจกลุ่มเสี่ยงเบาใจไม่ได้
เมื่อถามว่า มีแต่ผู้ติดเชื้อในสถานกักตัวของรัฐ แสดงว่าเราสบายใจได้แล้วหรือไม่ว่า ไม่มีคนติดเชื้อในประเทศ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เราภูมิใจที่ตัวเลขติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ แต่อย่างที่บอกคือ ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งไม่มีอาการ แต่เราตรวจพบเชื้อ เรื่องนี้พูดคุยกันในที่ประชุมอีโอซีว่า หากทำให้มั่นใจต้องเข้าไปตรวจเพิ่มเติม แม้วันนี้ตรวจไปได้ 3 แสนกว่าตัวอย่าง แต่ยังไม่พอใจ ต้องเฝ้าระวังโรค และค้นหาการติดเชื้อในประชาชนและสถานที่เสี่ยง จำแนกได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ กลุ่มอาชีพที่พบปะผู้คนจำนวนมาก และกลุ่มอื่นๆตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา เช่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง บุคคลในชุมชมแออัด บุคคลในโรงงาน บุคคลที่อาศัยในศูนย์พักพิง เจ้าหน้าที่เรือนจำ บุคคลในร้านอาหารต้องสุ่มตรวจ บุคคลในโรงเรียน ตั้งเป้าไว้เกือบ 1 แสนตัวอย่างใน 77 จังหวัด เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ขอฝากบุคคลในกลุ่มอื่นๆที่ระบุเอาไว้ ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่รับการตรวจ จะเป็นมาตรการป้องกันโรคที่ให้ความมั่นใจได้สูงจริงๆ
รอรับอีกกว่าหมื่นคนกลับไทย
เมื่อถามว่า มีประชาชนที่แจ้งความประสงค์เดินทางกลับไทยมากน้อยแค่ไหน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะนี้เรารองรับได้ 400 คนต่อวันเฉพาะการเดินทางทางอากาศ ระหว่างวันที่ 27 พ.ค.- 30 มิ.ย. มีคนลงทะเบียนประสงค์จะเดินทางกลับ 10,878 คน ยืนยันว่าเราพร้อมดูแล ส่วนเกณฑ์การจัดลำดับก่อนหลัง แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.ด่วนที่สุดคือ ผู้ป่วย ผู้ตกค้างในสนามบิน วีซ่าหมดอายุ 2.กลุ่มด่วนมากคือ พระสงฆ์ นักเรียน นักศึกษา และ 3.คนตกงาน
“บิ๊กตู่” ให้รอมติ ศบค.ร่นเคอร์ฟิว
ที่อาคารรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินวันที่ 2 ทันทีที่สแกนคิวอาร์โค้ด รัฐสภาจริงใจปลอดภัยไร้โควิด บันทึกประวัติการเข้า-ออกตัวอาคารเสร็จ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปฏิบัติตามระเบียบทุกประการ ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ส่งข้อสรุปคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เรื่องปรับลดเวลาเคอร์ฟิวให้แล้วหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์พยักหน้าก่อนตอบว่า “ให้รอดูพรุ่งนี้”
บอกอยากให้ถึงเฟส 4 โดยเร็ว
ที่รัฐสภาเย็นวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 29 พ.ค. ที่ประชุม ศบค.จะพิจารณาประกาศมาตรการผ่อนปรน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรถึงจะ ป้องกันการแพร่ระบาดให้ได้ คงทราบดีว่า รัฐบาลใช้งบฯเยียวยาไปมากพอสมควร ตอนนี้อยู่ในระยะ 3 เดือน ต่อไปยังต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ ฉะนั้น ต้องรีบหามาตรการผ่อนปรนให้ได้ แต่ทุกคนต้องการ์ดไม่ตก ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆที่รัฐออกมา ถ้าเราร่วมมือกันอย่างนี้จะเดินหน้าต่อไประยะ 4 อยากให้ไปถึงให้เร็วที่สุด แต่ต้องระมัดระวังเพราะเหตุการณ์ในต่างประเทศเกิดขึ้นแล้ว ขอให้เข้าใจว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อต้องการให้เกิดความปลอดภัย ต้องอธิบายว่าถ้าจะไม่ให้มีคนเจ็บป่วยเลย หรือปล่อยให้ออกไปนอกพื้นที่มันทำไม่ได้ จะไป ติดกันอีก ตรงที่ไม่มีก็กลายเป็นว่ามี
ตั้งการ์ดรับคนกลับอีกนับหมื่น
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า รัฐบาลพยายามปลดล็อกระยะ 3 ให้ได้มากที่สุด เว้นแต่บางอย่างที่มีความจำ เป็นและเสี่ยงสูงต้องเจ็บปวดไป ตนก็เจ็บปวดเหมือนพวกท่านเพราะมีหน้าที่ดูแลประชาชน ตนไม่สบายใจนักหรอก ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะ พื้นที่ภาคใต้ที่เดินทางเข้ามา ถ้าไม่ตรวจสอบ หรือมี สถานที่กักกันของรัฐ ปล่อยเสรีให้เข้ามาจะเกิดปัญหา ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้น ทุกคนต้องยอมรับ แต่อยู่ในกรอบที่รัฐบาลดูแลได้ ต้องค่อยๆปล่อยให้คนกลับเข้ามาจากต่างประเทศจาก 100 เป็น 200 ถึง 500 เห็นใจคนที่อยู่ต่างประเทศเพราะเป็นคนไทย ด้วยกัน แต่อย่าลืมว่าต้องทำให้เกิดความปลอดภัยในประเทศด้วย ขอให้เคารพกติกาและอดทน ถ้าเรา ปลดทีเดียวก็ยุ่ง คนจากต่างประเทศอีกเป็นหมื่นกำลัง ทยอยเข้ามา ข้อสำคัญการ์ดอย่าตก อย่าถอดหน้ากาก หรืออยู่ใกล้กันเกินไป อันตราย
ยันคนหักหัวคิวต้องถูกลงโทษ
พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าคนใน ศคบ.เก็บค่าหัวคิวเจ้าของโรงแรมที่เป็นสถานที่กักตัวโควิดของรัฐด้วยว่า ส่งรายชื่อไปแล้วตามที่มีการร้องเรียนเข้ามา 3-4 คน ตอนนี้กำลังสอบต่อว่าเกี่ยวข้องกับใคร อะไรอย่างไร และต้องลงโทษแต่ยืนยันว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานก็ต้องช่วยกัน ดีแล้วที่แจ้งมา
เปิดโรงมหรสพ–นวดแผนไทย
ต่อมา พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช. ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เผยว่า การผ่อนคลายมาตรการป้องกันระยะ 3 ที่จะเสนอเข้าสู่การประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 29 พ.ค.จะผ่อนคลายให้ทำกิจกรรมมากขึ้น กิจการ/กิจกรรมที่คาดว่าจะได้ผ่อนคลายระยะ 3 เพิ่มเติมส่วนห้างสรรพสินค้า อาจขยายผ่อนคลายกิจการโรงมหรสพ โรงละคร โรงภาพยนตร์ นวดแผนไทย ต้องปรับรูปแบบการให้บริการ รวมถึงการเดินทางข้ามจังหวัด ส่วนโรงเรียนกวดวิชา สวนน้ำ สวนสนุก อาจต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากกิจการ/กิจกรรมมีความเสี่ยงระบาดอยู่ ยังไม่น่าได้รับอนุญาตเปิดทำการ ทุกประเภทกิจการ/กิจกรรมจะทยอยผ่อนคลายหมดช่วงเดือน มิ.ย. นอกจากนี้ เคอร์ฟิวจะเสนอลดเวลาลง 1 ชม. อยากให้ประชาชนต้องป้องกันตนเองตามมาตรการ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น เพราะยิ่งผ่อนคลายยิ่งต้องดูแล ปฏิบัติตามมาตรการไม่หละหลวม ใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวเฝ้าระวังให้มากขึ้น
เคอร์ฟิว 5 ทุ่ม–ตี 3 ปิดห้าง 3 ทุ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการปรับลดเวลาเคอร์ฟิวที่จะเสนอ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณา เบื้องต้นจะเสนอปรับลดเวลาเคอร์ฟิวทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร จากเดิมห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 23.00-04.00 น. ปรับเป็นเวลา 23.00-03.00 น. ส่วนเวลาปิดห้างจากเดิม 20.00 น.เปลี่ยนเป็น 21.00 น. ร้านค้าในห้างกลับมาเปิดบริการเพิ่มเติม รวมถึงอนุญาตให้นั่งรับประทานในร้านสำหรับกลุ่มที่มาด้วยกันตั้งแต่ 4-6 คนขึ้นไป และอนุญาตให้ร้านนวดแผนไทยกลับมาเปิดกิจการได้
บาร์–ผับ–มวยเสี่ยงสูงต้องลุ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ส่วนของร้านตัดผมจากเดิมผ่อนปรนระยะ 2 อนุญาตผู้ประกอบการให้บริการเฉพาะ ตัด สระ ซอย แต่งผม ระยะต่อไป จะอนุญาตเพิ่มเติมให้ทำสีผมได้ภายในเวลาที่กำหนด รวมถึงการให้จัดงานแสดงสินค้าพื้นที่ไม่เกิน 2 หมื่นตารางเมตร เพื่อให้ธุรกิจหรือโรงแรมสามารถเดินต่อไปได้ ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์ มวย รวมถึงกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงแพร่ระบาดของเชื้อสูงยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ตั้ง คกก.ดูกฎหมายหลังเลิก พ.ร.ก.
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช.กล่าวอีกครั้งว่า เข้าพบหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ หลังประชุม ศบค.ชุดเล็ก หารือว่าหลังจาก วันที่ 1 ก.ค.ที่จะสิ้นสุดการขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จะเปิดประเทศมากขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำช่วง 1 เดือนต่อจากนี้ ต้องมาคุยกันเพื่อเตรียมพร้อม เมื่อไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังนั้น จะเสนอตั้งคณะกรรมการขึ้นมารองรับศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะพิจารณาว่า จะนำกฎหมายใดมาใช้แทน เตรียมการรองรับสถานการณ์โควิด-19 ระยะยาวที่ถือเป็นเรื่อง สำคัญ การประชุม ศบค. ตนจะเสนอนายกฯเพื่อขอหลักการไว้ก่อน แล้วจะไปดูรายละเอียดว่า คณะกรรมการ มีใครบ้าง แต่ต้องมีแน่นอน เพราะไม่อย่างนั้นเมื่อถึงวันที่ 1 ก.ค. จะเกิดความโกลาหลเพราะต้องเตรียมการในเรื่องต่างๆ
กห.รับเบาะแสแก๊งหัวคิว รร.
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการติดตามกลุ่มคนเกี่ยวข้องเรียกเก็บค่าหัวคิวจากเจ้าของโรงแรม ที่เป็นสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ของรัฐ (State Quarantine) จ.ชลบุรี ว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ภาคตะวันออกที่จัดเป็นสถานที่กักตัว ได้ข้อมูล รายชื่อ ไลน์ที่พูดคุยการเรียกรับเปอร์เซ็นต์เงื่อนไขต่างๆ ส่งไปให้ พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผบช.ภ.2 หมดแล้ว กรณีดังกล่าวมีผู้เสียหายทั้ง 3 ส่วนคือ ผู้ประกอบการโรงแรมไม่ได้รับค่าห้องพักเต็มราคา ผู้กักตัวอาจถูกตัดปริมาณอาหาร หรือไม่ได้รับบริการอย่างเต็มที่ และรัฐได้รับความสูญเสียเรื่องงบฯและภาพลักษณ์ การจัดหาพื้นที่กักตัว เป็นหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมดูแล ต้องค้นหาว่าใครอยู่เบื้องหลังผลประโยชน์ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจต้องตรวจสอบและขยายผล
กำชับตำรวจสาวให้หมดเปลือก
“ถ้าพบว่า ทหาร ตำรวจ หรือคนของกระทรวงสาธารณสุขให้จัดการให้หมด ผมบอกผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่ 2 และ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ต้องเปิดเผยว่าใครเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวใหญ่ เบอร์ใหญ่ขนาดไหนต้องเปิดออกมา เพราะเป็นเรื่องตัวบุคคลที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ ขณะที่องค์กรและรัฐมีนโยบายแก้ไข ปัญหาเรื่องโควิด-19” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว
แฉเบื้องต้นมีเซลส์เอี่ยว 9 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังกระทรวงกลาโหมส่งมอบหลักฐานและรายชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเรียกรับค่าหัวคิวจากโรงแรมที่ใช้เป็นสถานที่กักตัวคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ตำรวจภูธรภาค 2 ตั้งพนักงานสอบสวน มีรอง ผบก.ภ.จ.ชลบุรี ผกก.สภ.เมืองพัทยา รวมถึงชุดพนักงานสอบสวน ร่วมหาข้อเท็จจริง เบื้องต้นระบุมีผู้เกี่ยวข้อง 9 คนเป็นเซลส์ติดต่อกับผู้ประกอบการโรงแรมโดยตรง ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากช่วงแรกที่โรงแรมเสนอตัวเข้ามาเป็นสถานที่กักตัว ส่วนใหญ่คุณสมบัติไม่ตรงกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ไม่มีใบอนุญาต หรือใบอนุญาตไม่ถูกต้อง ทำให้โรงแรมไม่เพียงพอ จนช่วงต้นเดือน พ.ค. มีการบอกกันแบบปากต่อปากว่า ให้เจ้าหน้าที่ช่วยกันหา โรงแรม ใครรู้จักให้เสนอมา อาจเป็นช่องโหว่ให้นายหน้าหรือเซลส์ที่รู้ข้อมูลในพื้นที่ ติดต่อรับไปประสานงานและเรียกรับหัวคิว
แห่ขอรับเงินประกันตน
ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประกันสังคม (สำนักงานใหญ่) จ.นนทบุรี มีผู้ประกันตนหลายร้อยคนเดินทางมาพบนายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วย รมว.แรงงาน ติดตามเงินทดแทนการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยการระบาดของไวรัสโควิด-19 นายดวงฤทธิ์ กล่าวว่า ผู้ประกันตนที่เดินทางมามีปัญหาหลายส่วน เช่น นายจ้างยื่นรับรองรายชื่อ พนักงานที่หยุดงานชั่วคราวไม่ครบ หลายคนชื่อตกหล่นจึงไม่ได้รับเงินทดแทน บางคนส่งเงินประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน ประสานเจ้าหน้าที่รับเรื่องให้ความช่วยเหลือให้ทันกับความเดือดร้อน ขณะนี้ยอดยื่นขอรับเงินเยียวยาว่างงาน 1.3 ล้านคน จ่ายแล้ว 1.2 ล้านคน เป็นเงิน 7,372 ล้านบาท เฉพาะวันที่ 28 พ.ค. ยื่นขอเงินทดแทน 23,000 คน
ร้อง “หม่อมเต่า” ถูกเลิกจ้าง
ที่กระทรวงแรงงาน นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) น.ส.อำไพ วิวัฒนสถาปัตย์ ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย นำพนักงานบริษัทวิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ยื่นหนังสือกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ขอความช่วยเหลือถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม น.ส.อำไพ กล่าวว่า บริษัท วิงสแปน เป็นบริษัทลูกของการบินไทย ทำหน้าที่จัดส่งพนักงานให้บริษัทการบินไทย มีพนักงาน 4,400 คน ประกาศให้พนักงานหยุดงาน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. ส่งหนังสือเลิกจ้างพนักงาน 896 คน อ้างผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและโควิด-19 เชื่อว่ายังมีเลิกจ้างอีก ขอให้กระทรวงแรงงานดูแลการเลิกจ้างให้เป็นธรรม ต้องชดเชยตามกฎหมาย พนักงานส่วนหนึ่งส่งเงินสมทบประกันสังคมไม่ครบ 6 เดือน ทำให้ไม่ได้สิทธิเยียวยาว่างงาน รมว.แรงงานกำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปดูแลการชดเชยเลิกจ้าง ให้ประกันสังคมรับรองรายชื่อคนที่ไม่ได้สิทธิว่างงาน 62 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ไปยืนยันสิทธิรับเงิน 5 พันบาทจากเราไม่ทิ้งกันของกระทรวงการคลัง
กัน 1.5 แสนล้านให้คนตกหล่น
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เผยกรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ การเกษตร (ธ.ก.ส.)ไม่สามารถโอนเงินให้หัวหน้าครอบครัวทะเบียนเกษตรกรมากกว่า 100,000 ราย เนื่องจากเสียชีวิตแล้วว่า เรื่องนี้ต้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับไปพิจารณาอีกที เพื่อให้เสนอกลับมาที่คณะกรรมการกลั่นกรองฯว่า จะดำเนิน-การอย่างไร เช่น การโอนเงินให้กับทายาทจะโอนให้หรือไม่ ถ้าต้องการโอนเงินเยียวยาผู้เป็นทายาท เช่น บางคนพ่อแม่เสียชีวิตแล้ว แต่ลูกยังทำการเกษตรกรอยู่ ต้องแจ้งลูกหรือทายาทให้มาอัปเดตสมุดเล่มเขียวทะเบียนเกษตรใหม่ ว่ายังทำการเกษตรอยู่ เพราะทายาทบางคนอาจทำงานในเมือง ไม่ควรได้ หรือบางคนอาจรับเงินเยียวยาจากโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว อย่างไรก็ตามกันเงินไว้ให้ครอบคลุม 10 ล้านคน วงเงิน 150,000 ล้านบาทอยู่แล้ว
เร่งแจ้งเกษตรกรเปิดบัญชี
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ขณะนี้พบปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือนคือ ธ.ก.ส.ไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรได้ 256,802 ราย เนื่องจากไม่พบหมายเลขบัญชีเงินฝาก และเกษตรกรไม่ได้แจ้งบัญชีธนาคารอื่นเพื่อรับเงินเยียวยาผ่านเว็บไซต์ https://www.เยียวยาเกษตรกร.com ธ.ก.ส.ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรแจ้งเลขบัญชีธนาคารผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวโดยเร็ว ไม่จําเป็นต้องเปิดบัญชีใหม่กับ ธ.ก.ส. หากเป็นบัญชีที่ผูกพร้อม-เพย์กับบัตรประชาชนจะทําให้การโอนเงินเข้าบัญชีรวดเร็วมากขึ้น รับเงินโอนภายในเดือน พ.ค. รวมทั้งขอให้เกษตรกรตรวจสอบผลการโอนเงินของ ธ.ก.ส. ด้วย
เกษตรกรทบทวนสิทธิ์เกือบ 2 หมื่น
สำหรับการอุทธรณ์ทบทวนสิทธิ์ ล่าสุดหน่วยงานในพื้นที่รับเรื่องอุทธรณ์เงินเยียวยาจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.-27 พ.ค. รวมทั้งสิ้น 19,961 ราย จำนวน 20,177 เรื่อง จําแนกเป็นกรมส่งเสริมการเกษตร 18,242 เรื่อง กรมปศุสัตว์ 1,308 เรื่อง กรมประมง 377 เรื่อง การยางแห่งประเทศไทย 209 เรื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 32 เรื่อง กรมหม่อนไหม 6 เรื่อง และกรมสรรพสามิต (ทะเบียนยาสูบ) 3 เรื่อง หน่วยงานระดับพื้นที่ได้แก้ไขปัญหาแล้ว 774 เรื่อง อยู่ระหว่างพิจารณา 18,062 เรื่อง และเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ฯ 1,341 เรื่อง สำหรับการโอนเงินช่วยเหลือเกษตรกร ธ.ก.ส.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรแล้วตั้งแต่วันที่ 15-27 พ.ค. รวม 10 วัน 5,720,774 ราย เป็นเงิน 28,603.87 ล้านบาท วันที่ 27 พ.ค.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร 498,925 ราย จำนวน 2,494.625 ล้านบาท เกษตรกรที่ต้องการตรวจสอบสิทธิ์และอุทธรณ์ทบทวนสิทธิ์ ดำเนินการได้ผ่านเว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ https://www.moac.go.th และเกษตรกรที่ได้ปรับปรุงข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรวันที่ 1-15 พ.ค. สามารถตรวจสอบสิทธิ์ทางเว็บไซต์ได้ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.เป็นต้นไป
ไม่พบตัวตนเยียวยาเกือบแสน
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือนว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังตรวจสอบข้อมูลผู้ได้รับสิทธิ์แล้ว 99.5% มีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิ์ทั้งสิ้น 15.10 ล้านคน ในจำนวนนี้ได้รับเงินแล้ว 14.83 ล้านคน ส่วนที่เหลืออีก 270,000 คน กำลังเร่งจ่ายเงินให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังเหลือการทบทวนสิทธิ์อีกแค่ 110,000 คน ขณะนี้ส่งทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและยืนยันสิทธิ์ 11,000 คน ส่วนอีก 97,000 คน ที่อยู่ไม่ตรงกับที่แจ้งทบทวนสิทธิ์ หรือติดต่อไม่ได้ ขอให้ผู้ทบทวนสิทธิ์ติดต่อสาขาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ใกล้ที่สุดหรือสะดวกที่สุดภายในวันที่ 29 พ.ค.63
ช่วงโควิดอาชญากรรมลดฮวบ
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงภาพรวมของคดีอาชญากรรม หลังประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯว่า ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ จนประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นตัวแปรชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มูลเหตุอาชญากรรมหลายๆอย่าง เกิดจากสุราเป็นตัวต้นเหตุส่วนหนึ่ง เมื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมการออกจากเคหสถาน การก่ออาชญากรรมลดลงเป็นลำดับ ด้านการจับกุมก่อนประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯทั้งประเทศประมาณ 1 หมื่นคดี แต่หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รัฐบาลประกาศให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าทหารทุกเหล่าทัพ หน่วยงานปกครองและท้องถิ่น ร่วมปฏิบัติงานพบว่า ผลการจับกุมเพิ่มขึ้น 2 เท่า เปรียบเทียบภาพรวมสถิติอาญากรรมทั่วประเทศระหว่างวันที่ 1 มี.ค.ถึงวันที่ 25 พ.ค.2562 กับห้วงระยะเวลาวันที่ 1 มี.ค.ถึงวันที่ 25 พ.ค.2563 พบว่า คดีกลุ่ม 1. ความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เพศ ลดลงร้อยละ 18.23 คดีกลุ่ม 2. ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ลดลงร้อยละ 0.56 คดีกลุ่ม 3. ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ที่มีโทษทางอาญา ลดลงร้อยละ 22.96 และคดีกกลุ่ม 4. ความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ลดลงร้อยละ 25.77
แต่คดีฉ้อโกงออนไลน์พุ่ง
“แต่ตัวเลขที่เพิ่มอย่างเห็นได้ชัด เป็นคดีการฉ้อโกงออนไลน์ เนื่องจากช่วงนี้คนอยู่บ้าน สั่งซื้อของสั่งสินค้าแต่ไม่ตรงกับความต้องการ เข้าแจ้งความมากขึ้น มีข้อสังเกตว่า คดีที่เกี่ยวกับคนเป็นคนทำ มีคนเผชิญหน้ากันจำนวนคดีลดลง แต่คดีที่ใช้เทคโนโลยีกลับเพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุผลที่ต้องเสนอจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลงานอาชญากรรมด้านออนไลน์โดยตรง ดังนั้นโดยสรุปมาตรการต่างๆที่รัฐบาลดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลด้านสุขภาพของพี่น้องประชาชน ส่งผลอย่างชัดเจนต่อการควบคุมอาชญากรรม ทำให้สถิติการเกิดอาชญากรรมลดลง อีกทั้งยังพบตัวเลขในเชิงลึกว่า สถิติคดีอาญาที่เกิดขึ้นจากดื่มสุราลดลง กรณีเด็กแว้นลดลงเกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์
ดีเอสไอตั้งตู้ปันสุขแจกของ
ที่ลานจอดรถหน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีดีเอสไอ รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วยรองอธิบดีดีเอสไอ ร่วมจัดตั้ง “ตู้ดีเอสไอ ปันสุข ปันน้ำใจ เพื่อประชาชน” หน้าอาคารดีเอสไอ และศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ 10 แห่งทั่วประเทศ นพ.ไตรยฤทธิ์เผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม มีนโยบายให้ช่วยเหลือและแบ่งเบาความทุกข์ร้อนพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงตั้งตู้ดีเอสไอปันสุขฯ และเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธานำสิ่งของมาบริจาคในตู้ได้เพื่อร่วมทำบุญแบ่งปัน
เปลี่ยนอาชีพสู้วิกฤติโควิด
การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบให้กับประชาชนในหลากหลายอาชีพ ผู้สื่อข่าวเดินทางไปพบนายสมาน สมหมาย อายุ 50 ปี ชาวบ้านน้ำฮอก หมู่ 3 ต.บ้านเหล่า อ.สูงเม่น จ.แพร่ อาชีพหากุ้งฝอยจากอ่างเก็บน้ำ เปลี่ยนอาชีพรับจ้างบินโดรนพ่นปุ๋ยสร้างความฮือฮาให้แก่คนในพื้นที่ สอบถามนายสมาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ขายกุ้งฝอยได้น้อยลง คิดเปลี่ยนอาชีพซื้อโดรน ขนาด 8 ใบพัด ราคา 2.5 แสนบาท มาฝึกบินรับจ้างพ่นปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร คิดค่าจ้างเพียงไร่ละ 100 บาท หากจ้างแรงงานคนคิดไร่ละไม่ต่ำกว่า 250 บาท จึงเป็นที่ต้องการของชาวไร่หลายตำบลในเขต อ.สูงเม่น ตอนแรกกลัวว่าจะไปไม่รอดเพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่และโดรนมีราคาสูง แต่ตั้งใจศึกษาฝึกฝนจนชำนาญสร้างรายได้เป็นอย่างดีเพราะเป็นอาชีพใหม่ไร้คู่แข่ง
จับแมงกะพรุนสร้างรายได้
ส่วน จ.กระบี่ ชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการเรือหางยาวนำเที่ยวกว่า 100 ลำ พากันออกทะเลจับแมงกะพรุนจานเพื่อส่งขายให้กับพ่อค้า บริเวณอ่าวบ้านคลองทราย ต.หนองทะเล อ.เมืองกระบี่ นายธีระยุทธิ์ ช้างชู พ่อค้ารับซื้อแมงกะพรุน เปิดเผยว่า รับซื้อแมงกะพรุนจานเพื่อนำไปแปรรูป เป็นที่นิยมในต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เชื่อว่าเป็นเมนูยาชูกำลัง ช่วงนี้แมงกะพรุนจานจะลอยในทะเลฝั่งอันดามันจำนวนมาก เรือแต่ละลำจะมีรายได้เฉลี่ยวันละ 5-7 พันบาท ส่วนชาวบ้านในพื้นที่กว่า 100 คน อยู่ในช่วงว่างงานในช่วงโควิด-19 ถูกจ้างมาคัดแยกแมงกะพรุน ได้ค่าจ้างวันละ 4-5 ร้อยบาทต่อวัน
ฝ่าเคอร์ฟิวรับของแจก
ขณะที่การบริจาคสิ่งของให้กับผู้เดือดร้อนยังคงมีอยู่ทุกพื้นที่ เมื่อเวลา 03.30 น. ที่บริเวณริมถนนพัทยา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีประชาชนนับพันคนรอต่อคิวอย่างแออัด เพื่อรอรับถุงยังชีพจากโบสถ์นอร์เวย์ พัทยา ตั้งอยู่ภายในซอยพัทยา 5 มีกำหนดการแจก เวลา 09.00 น.ของทุกวันพฤหัสบดี จำนวนกว่า 2 พันชุด ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกัน ขณะเดียวกันตำรวจ สภ.เมืองพัทยา เข้าตรวจสอบพร้อมให้ประชาชนแยกย้ายกันกลับเพราะเป็นช่วงเวลาเคอร์ฟิว แต่ประชาชนไม่ยอมกลับพร้อมระบุว่ากลัวอดตายมากกว่าถูกจับ เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพราะมีการรวมกลุ่มเป็นจำนวนมากและยังส่งเสียงอึกทึก ฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบประชาชนให้มารับสิ่งของตามเวลาที่กำหนด และดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ถือไม้เรียวคุมเข้มตู้ปันสุข
วันเดียวกัน นายณัฐ วิบูลศิลป์ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ต.ห้วยจรเข้ อ.เมืองนครปฐม พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน ยืนถือไม้เรียวด้วยสีหน้าเคร่งเครียดยืนคุมตู้ปันสุข ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ห้วยจรเข้ โดยจะให้ประชาชนและเด็กหยิบสิ่งของภายในตู้ได้คนละไม่เกิน 3 ชิ้น หากใครหยิบเกินจะถูกตีก้น สร้างสีสันและเสียงหัวเราะเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กๆมากับคุณแม่ ต่างเกิดอาการกลัวไม้เรียวจนต้องเหลียวมองว่าจะถูกตีหรือเปล่า เพราะบางครั้งเด็กอาจจะหยิบไปเกิน 3 ชิ้น สำหรับตู้ปันสุขดังกล่าวกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในชุมชนร่วมกันบริจาคสิ่งของ อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อคอยช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในช่วงที่ได้รับผลกระทบโควิด-19
คาดโควิดระบาดระลอก 2
ที่โรงแรมเดอะฮอลล์ กรุงเทพ ในเวที CSO Talk: จากบทเรียนโควิด-19 สู่นโยบายฟื้นฟูฯ ที่โปร่งใสและเป็นธรรม” จัดโดยขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แม้การควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของไทยทำได้ดี แต่ความยากลำบากไม่ได้จบใน 2-3 เดือน ประมาณการว่าอีก 1 ปีถึงจะมีวัคซีน และอีก 2 ปีถึงจะควบคุมโรคได้ ขณะนี้แม้จะเริ่มทยอยเปิดกิจกรรมกิจการ แต่เชื่อว่าการระบาดระลอก 2 น่าจะกลับมา อยู่ที่ว่าจะระบาดน้อยหรือมาก ยังต้องเข้มมาตรการรักษาระยะห่างต่อเนื่อง หากระบาดวงกว้างถึงขั้นจะต้องปิดเมืองอีกจะกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจรากหญ้าที่ขณะนี้กระทบมากอยู่แล้ว ต้องปิดกิจการไปมากมาย
แนะรัฐทุ่มเม็ดเงินให้ตรงจุด
นายสมเกียรติกล่าวด้วยว่า คณะวิจัยจากทีดีอาร์ไอนำโดยนายสมชัย จิตสุชน สำรวจความคิดเห็นผ่านออนไลน์หัวข้อ “โควิด-19 กระทบใคร อย่างไร พวกเขารับมือไหวไหม” จากกลุ่มเป้าหมาย 70,000 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 73 มีรายได้ลดลงหลังการระบาด จำนวนนี้ร้อยละ 40 รายได้ลดลงกว่าครึ่ง ร้อยละ 50 ไม่คิดว่าจะอยู่ได้หากสถานการณ์ลากยาวเกิน 3 เดือน นอกจากนี้ร้อยละ 18 ว่างงานหรือประมาณกว่า 6 ล้านคน อีกกลุ่มคือ บัณฑิตที่เพิ่งเรียนจบอาจว่างงานมากขึ้น ภาคธุรกิจที่ปิดกิจการไปมากมาย ร้อยละ 14 เป็นเศรษฐกิจรากหญ้าที่กำลังเดือดร้อนหนัก มาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐต้องทุ่มเม็ดเงินให้ตรงจุด โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากและกลุ่มผู้เดือดร้อนที่มีปัญหาจริงๆ
เยียวยาชาวบ้านไม่ถึง 2–3 ล้านคน
ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) กล่าวว่า คาดว่ายังมีประชาชน 2-3 ล้านคนที่ยากจนจริงแต่ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ ปัญหาเป็นเพราะการรวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการอยู่ที่รัฐและระบบเอไอที่มีปัญหามาก ควรกระจายอำนาจให้ชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการปัญหา ขณะที่นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากข้อมูลวัยทำงานกว่า 7 ล้านคน ถูกเลิกจ้างงานแล้วในขณะนี้ คนเหล่านี้ไม่มีรายได้ จะกระทบไปถึงเด็กที่จะต้องออกกลางคันจากโรงเรียนอีกไม่น้อย ขณะเดียวกันแรงงานบางส่วนที่กลับภูมิลำเนาจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากร ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ
คนถูกหลอกขายออนไลน์พุ่ง
ส่วน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า ช่วงโควิด-19 มีการร้องเรียนมาที่มูลนิธิมากที่สุดคือ การหลอกขายของทางออนไลน์ รองมาเป็นเรื่องสายการบินต่างๆ ที่ลูกค้าคืนตั๋วไม่ได้ และอีกเรื่องปัญหาหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดคือ กลุ่มที่ตกงาน ผู้พิการ ทั้งนี้ฝากถึงงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ไม่อยากเห็นการใช้เงินที่เป็นคำสั่งจากกระทรวงไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ควรจัดสรรเงินให้แต่ละจังหวัดบริหารจัดการ โดยมีองค์กรทุกภาคส่วนคอยติดตามการใช้จ่ายเงินให้ทุกจังหวัดได้ใช้งบประมาณนี้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านอาหาร และด้านอื่นๆอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้เห็นการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม
"กิน" - Google News
May 29, 2020 at 05:13AM
https://ift.tt/2ZP12W6
ทหารส่งหลักฐานให้ตำรวจ ฟาดแก๊งกินหัวคิว (คลิป) - ไทยรัฐ
"กิน" - Google News
https://ift.tt/2YKxNmY
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/35PjoHG
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ทหารส่งหลักฐานให้ตำรวจ ฟาดแก๊งกินหัวคิว (คลิป) - ไทยรัฐ"
Post a Comment