รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง
ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤตอะไรขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ภาวะข้าวยากหมากแพง ขาดแคลนอาหาร ผู้คนอดอยาก ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นหลายต่อหลายครั้งในอดีต ในวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ เรื่องความมั่นคงและความไม่มั่นคงทางอาหารจึงเป็น issue สำคัญที่องค์การระดับนานาชาติเตือนให้ระวังและเร่งปฏิบัติการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงอย่างที่คาดการณ์
ก่อนจะมีโควิด-19 โลกเรามีปัญหาอื่นที่ทำให้คนจำนวนมากเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารอยู่แล้ว ในประเทศยากจน ผู้คนอดอยากกันจนเป็นภาวะปกติ ในบางภูมิภาคมีความขัดแย้ง มีสงครามกลางเมือง ซึ่งก็แน่นอนว่ากระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการเข้าถึงอาหาร เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาดกระจายไปทั่วโลก มันจึงซ้ำเติมให้ปัญหาที่มีอยู่แต่เดิมขยายออกและพัฒนาระดับความยากมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้คนขาดแคลนอาหารมากยิ่งขึ้น
“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ชวนมองตามข้อมูลว่า สถานการณ์โลกในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร แล้วจะสามารถลดระดับความรุนแรงของปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง
นิยาม “ความมั่นคงทางอาหาร”
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ให้นิยามไว้ว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” หมายถึง ภาวะที่คนทุกคน (ในทุกขณะเวลา) มีความสามารถทั้งทางกายภาพและทางเศรษฐกิจในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจด้านอาหาร เพื่อให้เกิดชีวิตที่มีพลังและมีสุขภาพดี
ความมั่นคงทางอาหาร (food security) ตามแนวคิดของ FAO ต้องมีองค์ประกอบสําคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.การมีอาหารเพียงพอ (food availability) 2.การเข้าถึงอาหาร (food access) 3.การใช้ประโยชน์จากอาหาร (food utilization) 4.การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (food stability)
ดังนั้น หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งไป นั่นก็เข้าสู่ภาวะ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” (food insecurity) แล้ว
จากนิยามที่ว่ามา สามารถสรุปได้ว่า สิ่งที่ชี้วัดความมั่นคงทางอาหาร ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ว่า ปริมาณการผลิตอาหารในโลกมีมากเพียงพอต่อจำนวนคนหรือไม่ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อมีมากพอแล้ว อาหารเหล่านั้นมีการกระจายอย่างทั่วถึงหรือไม่ ผู้คนทั่วโลกเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอหรือเปล่า นั่นต่างหากที่สำคัญ
โควิด-19 กระทบแค่ไหน อย่างไร
องค์การและองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) และธนาคารโลก (World Bank) ล้วนแสดงความเป็นห่วงต่อภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งมีอยู่แล้วแต่เดิมในหลายประเทศทั่วโลก และผลกระทบจากโควิด-19 จะซ้ำเติมให้ภาวะนี้รุนแรงมากขึ้นเกือบเท่าตัว
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา WFP เผยแพร่ข้อมูลในรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลกประจำปี 2020 (Global Report on Food Crises 2020) ซึ่งทำการสำรวจในปี 2019 พบว่า มีคน 165 ล้านคน ใน 55 ประเทศทั่วโลกที่จะเผชิญความอดอยาก หรือเผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรงในปี 2020 นี้
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงและกระจายวงกว้างขึ้น คณะทำงานได้จัดทำคาดการณ์ใหม่ โดยนำผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการคาดการณ์ แล้วเผยแพร่ตัวเลขใหม่ออกมาว่า ในปี 2020 จะมีผู้คน 265 ล้านคนที่เสี่ยงอดอยากขาดแคลนอาหาร เว้นแต่ว่านานาชาติจะสามารถจัดการกับโควิดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลดผลกระทบลงได้
ในช่วงเวลาเดียวกัน FAO เผยคาดการณ์ตัวเลขเฉพาะผู้ที่เผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารอันเนื่องมาจากผลกระทบจากโควิด-19 แม้เป็นตัวเลขที่น้อยกว่าของ WFP แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่มากอยู่ดี
FAO ระบุว่า หากไม่มีนโยบายที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที คนหลายสิบล้านคนทั่วโลก (ไม่นับคนที่อดอยากอยู่แล้ว) มีแนวโน้มจะเข้าสู่การเป็นผู้อดอยาก ซึ่งจำนวนผู้คนที่จะเผชิญความอดอยากจะผันแปรตามระดับความรุนแรงของการหดตัวทางเศรษฐกิจ ถ้าการหดตัวอยู่ในระดับต่ำ จะกระทบคน 14.4 ล้านคน ถ้าหดตัวระดับกลาง จะมีผู้อดอยาก 38.2 ล้านคน แต่ถ้าเศรษฐกิจหดตัวสูงถึง 10% ของจีดีพีของประเทศผู้นำเข้าอาหาร101 ประเทศ จะมีผู้อดอยากมากถึง 80.3 ล้านคน
“ผลลัพธ์ที่แท้จริงอาจเลวร้ายยิ่งกว่าที่คาดการณ์ หากความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงอาหารทวีความรุนแรงขึ้น” FAO เตือน
ส่วนคำถามว่า กระทบอย่างไร ? จากข้อมูลของ FAO และ WFP เราสามารถจำแนกผลกระทบออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
1.ผลกระทบต่อความเพียงพอของอาหาร หรือในด้านซัพพลาย ปัจจุบันโลกเรายังสามารถผลิตอาหารได้เพียงพอ การเพาะปลูกพืชอาหารปี 2020 มีแนวโน้มดี แต่ปัญหาคือ ข้อจำกัดการเดินทางและการผ่านแดนจะเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง การแปรรูปอาหาร ต้องใช้เวลาขนส่งนานขึ้น เป็นผลให้ความเพียงพอของอาหารลดน้อยลง
ส่วนในภาคการผลิตเนื้อสัตว์และการเลี้ยงปศุสัตว์ จะเจอปัญหาการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานของปัจจัยการผลิต และ/หรือการไม่สามารถเข้าถึงตลาดปศุสัตว์ อาจส่งผลให้การผลิตและการขายสินค้าปศุสัตว์ลดลง สำหรับสัตว์น้ำ ทั้งการจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีเรื่องการขาดแคลนแรงงานเพิ่มเข้ามา เป็นปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม FAO บอกว่า โลกของเรายังไม่ได้เผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร ภาคการผลิตยังผลิตได้ปริมาณมากพอ
2.ผลกระทบต่อการเข้าถึงอาหาร การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน (unemployment) และการทำงานต่ำกว่าระดับ (under-employment) มีแนวโน้มที่จะทำให้กำลังซื้อลดลงอย่างรุนแรง ประชากรในเมือง โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้จากการทำงานนอกระบบ และการทำงานในภาคบริการ มีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษที่จะสูญเสียแหล่งรายได้ อันเป็นผลมาจากการเว้นระยะห่างทางสังคม และมาตรการ-ข้อจำกัดต่าง ๆ ส่วนผู้ที่พึ่งพา-ยังชีพด้วยเงินส่งกลับประเทศ (remittances) และผู้ที่ข้ามชายแดนเป็นประจำเพื่อทำมาหากินก็จะสูญเสียแหล่งรายได้เช่นกัน
ข้อจำกัดการเดินทางและการผ่านแดน ไปจนถึงปัญหาความเจ็บป่วย มีแนวโน้มจะทำให้ภาคการเกษตรขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มราคาอาหาร นอกจากนั้นปัจจัยต่าง ๆ อย่าง นโยบายกีดกันทางการค้า (protectionism policies) อาจผลักให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารจะต้องซื้ออาหารในราคาสูงขึ้นไปอีกหากสกุลเงินของพวกเขาอ่อนค่าลง
โดยสรุปคือ ปริมาณการผลิตอาหารยังมีเพียงพอ แต่มาตรการป้องกันโรคระบาดที่เป็นอุปสรรคในการขนส่ง-การกระจายสินค้า จะส่งผลให้เกิดภาวะเหมือนว่าอาหารมีไม่เพียงพอ บวกกับโควิด-19 ทำให้คนมีกำลังซื้อลดน้อยลง ขณะที่ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ผู้คนจำนวนมหาศาลจะไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้
ใครเสี่ยงอดอยากมากที่สุด
โควิด-19 แพร่ระบาดไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก แม้ว่าการระบาดจะไม่ได้เลือกประเทศยากดีมีจน แต่ระดับความพร้อมที่จะรับผลกระทบของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน สำหรับมิติด้านความมั่นคงทางอาหาร ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประเทศที่เปราะบาง ยากจน ซึ่งเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว
10 ประเทศที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารสูงที่สุด ตามรายงานของ WFP ได้แก่ 1.เยเมน (15.9 ล้านคน) 2.สาธารณรัฐคองโก (15.6 ล้านคน) 3.อัฟกานิสถาน (11.3 ล้านคน) 4.เวเนซุเอลา (9.3 ล้านคน) 5.เอธิโอเปีย (8 ล้านคน) 6.ซูดานใต้ (7 ล้านคน) 7.ซีเรีย (6.6 ล้านคน) 8.ซูดาน (5.9 ล้านคน) 9.ไนจีเรียเหนือ (5 ล้านคน) 10.เฮติ (3.7 ล้านคน)
อาริฟ ฮูเซน (Arif Husain) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ WFP กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง และผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งสำหรับคนเหล่านี้แม้ว่าไม่มีโควิด-19 ชีวิตของพวกเขาก็แขวนอยู่บนเส้นด้ายอยู่แล้ว
นอกจากประเทศในกลุ่มเปราะบางที่ว่ามาแล้ว WFP บอกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ระดับความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลันในประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (SIDS) และประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นผู้นำเข้าอาหาร ซึ่งประชากรอาศัยรายได้จากเงินส่งกลับประเทศ (remittances) และภาคการท่องเที่ยว
ส่วนประเทศที่ร่ำรวยก็มีโอกาสเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารเช่นกัน หากพิจารณาตามที่ FAO บอกว่า ประเทศที่มีการระบาดหนัก และมีความต้องการบริโภคสูงจะเสี่ยงหนัก ประเทศยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในข่ายความเสี่ยงนี้ก็คือ จีน ซึ่งมีประชากรจำนวนมากราว 1.4 พันล้านคน เป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก และเป็นประเทศที่ยังไม่สามารถผลิตอาหารในประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจรตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพราะยังต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตอาหารจากตลาดโลกหลายรายการ เช่น ถั่วเหลือง น้ำตาล และนมโค โดยเฉพาะถั่วเหลือง ที่พึ่งพาการนำเข้ามากถึง 80% ของความต้องการใช้
คำแนะนำเพื่อลดระดับวิกฤตขาดแคลนอาหาร
ตามปัจจัยที่นำมาพิจารณากัน อย่างที่บอกว่า ปัญหาอยู่ที่อุปสรรคการขนส่งสินค้าผ่านแดน และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนเข้าถึงอาหารน้อยลง ทั้งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) และธนาคารโลก (World Bank) จึงมีคำแนะนำไปในทางเดียวกัน ประเด็นสำคัญคือ ให้เปิดการค้าระหว่างประเทศ
FAO แนะนำว่า รัฐบาลของนานาประเทศควรเปิดการค้าระหว่างประเทศ ไม่กำหนดมาตรการที่จะจำกัดการค้าและความคล่องตัวของสินค้า แก้ปัญหาคอขวดการขนส่ง ดำเนินมาตรการที่ปกป้องห่วงโซ่อุปทานอาหาร รักษากิจกรรมทางการเกษตรในประเทศให้คงอยู่ รักษาห่วงโซ่อุปทานอาหารภายในประเทศให้พร้อมต่อการใช้งาน มุ่งเน้นช่วยเหลือตอบสนองความต้องการของผู้ที่เปราะบางที่สุดก่อน และควรส่งเสริม-สนับสนุนและขยายโครงการความคุ้มครองทางสังคม
ส่วนธนาคารโลก ได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ธนาคารโลกได้ร่วมกับองค์กรอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการดำเนินการร่วมกันเพื่อให้การค้าอาหารระหว่างประเทศมีความคล่องตัว ซึ่งปัจจุบันมีสัญญาณว่าประเทศต่าง ๆ กำลังเฝ้าระวังบทเรียนจากวิกฤตการณ์ราคาอาหารในอดีต รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรจากประเทศกลุ่มจี 20, สหภาพแอฟริกา, อาเซียน, ละตินอเมริกา และแคริบเบียน เห็นพ้องต้องกันในความต้องการให้ตลาดอาหารโลกเปิดกว้าง และงดเว้นการกีดกันทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อไม่ให้โลกต้องเผชิญการขาดแคลนอาหาร
เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ WFP แสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่การค้าขายจะต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะถ้าการค้าหยุดชะงัก งานด้านมนุษยธรรมก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ชีวิตของผู้คนนับล้านขึ้นอยู่กับการไหลเวียนของการค้า และการหยุดชะงักทางการค้าก็ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้คนอย่างมหาศาล
ในรายงานของ WFP บอกว่า ด้วยลักษณะของวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดจากโควิด-19 และการดำเนินการร่วมกันอย่างรวดเร็วเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อความมั่นคงทางอาหาร เป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนอย่างยิ่ง
สำหรับประเทศไทยเราที่ว่าเป็นครัวของโลก เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ที่ได้ดุลการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารปีละกว่า 6 แสนล้านบาทนั้น จะมั่นใจได้หรือยังว่า เรามีความมั่นคงทางอาหาร ? ขอทิ้งไว้เป็นคำถามก่อน แล้วเราจะพาไปหาคำตอบในเร็ว ๆ นี้…
"อาหาร" - Google News
May 21, 2020 at 08:26PM
https://ift.tt/3cTfksn
โควิด-19 ซ้ำเติมความไม่มั่นคงทางอาหาร คน 265 ล้านคนเสี่ยงอดอยากในปีนี้ - ประชาชาติธุรกิจ
"อาหาร" - Google News
https://ift.tt/3bODzqM
Mesir News Info
Israel News info
Taiwan News Info
Vietnam News and Info
Japan News and Info Update
https://ift.tt/35PjoHG
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โควิด-19 ซ้ำเติมความไม่มั่นคงทางอาหาร คน 265 ล้านคนเสี่ยงอดอยากในปีนี้ - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment